วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2559

จดหมายเหตุตั้งสังฆราชชัดไม่มีธรรมเนียมเริ่มจากนายก

จดหมายเหตุตั้งสังฆราชชัดไม่มีธรรมเนียมเริ่มจากนายกฯ | เดลินิวส์

จดหมายเหตุตั้งสังฆราชชัดไม่มีธรรมเนียมเริ่มจากนายกฯ
เปิดจดหมายเหตุสถาปนาสังฆราชองค์ที่ 19 บันทึกหนังสือราชการชัดไม่ได้เริ่มต้นที่นายกรัฐมนตรี ด้านอดีตเลขาธิการวุฒิสภา ชี้ ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำมาก่อนให้นายกรัฐมนตรีเสนอนามสังฆราช เชื่อส่งกลับมามหาเถรฯ ก็คงยึดมติเดิม วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม 2559 เวลา 16:00 น.

วันนี้ (4 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขั้นตอนการสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้มีการบันทึกจดหมายเหตุพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี 2532 อย่างละเอียด

โดยเฉพาะขั้นตอนและเอกสารราชการการ ธรรมเนียมปฏิบัติ การเสนอสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชโดยกระบวนการเริ่มต้นพิจารณานามสมเด็จพระราชาคณะ ได้ยึดตามมาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 ระบุว่า

การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตามจารีตประเพณี จะทรงสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช

จากกรมการศาสนา สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม นำรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะให้ มส.ได้พิจารณาก่อน และมีสังฆทัศนะจากนั้นเสนอนามพร้อมสังฆทัศนะ ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจากนั้นเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอไปยังราชเลขาธิการ ต่อมาสำนักราชเลขาธิการ ได้แจ้งหนังสือกลับมายังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงทางสมณศักดิ์ เป็นผู้เหมาะสมเป็นสมเด็จพระสังฆราชสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งเรื่องกลับมายัง รมว.ศึกษาธิการ มายังกรมการศาสนาเพื่อจัดพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช

ซึ่งไม่มีการบันทึกขั้นตอนว่า กระบวนการเริ่มจากนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด

นายจำนงค์ สวมประคำ อดีตเลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ในมาตรา 7 หมวดสมเด็จพระสังฆราชนั้นเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า การสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระราชอำนาจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนขั้นตอนการนำความกราบบังคมทูล เมื่อตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง พศ.ต้องนำความเรียน มส. ก็ขึ้นต้นด้วยส่วนราชการของรัฐบาลภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรี มส.ไม่ได้หยิบขึ้นมาประชุมเอง จากนั้น พศ.ก็เสนอมติ มส.ไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูล ก็ชัดเจนอยู่แล้ว

แต่อยู่ดีๆจะให้นายกรัฐมนตรีมาพิจารณาเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ท่านนายกรัฐมนตรี จะเริ่มต้นจากอะไร หรือ พศ.ต้องนำความเรียนนายกรัฐมนตรี ก็ต้องไปศึกษาระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรีว่าเคยมีปฏิบัติหรือไม่

นายจำนงค์ กล่าวต่อไปว่า ธรรมเนียมปฏิบัติที่ให้นายกรัฐมนตรี เสนอนามมายัง มส.ยังไม่เคยมี มีแต่ส่วนราชการของรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการตามขั้นตอนหากเป็นสมัยก่อนปี 2549 ก็เป็นกรมการศาสนา(ศน.) แต่หลังแบ่งส่วนราชการใหม่ก็ต้องเป็น พศ. เป็นกระบวนการปฏิบัติราชการในการเสนอนามสมเด็จพระสังฆราช

หากว่าผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่า การพิจารณาการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชจะต้องเริ่มที่นายกรัฐมนตรี ก็เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี จะตัดสินในซึ่ง มส.ไม่เดือดร้อนอยู่แล้ว เพราะการประชุม มส.ก็ต้องเริ่มจากสำนักเลขาธิการ มส. ซึ่งก็คือพศ.อยู่ดี หากส่งเรื่องกลับมาให้ มส.ประชุมใหม่ก็มีมติเช่นเดิมไปนายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถไปเปลี่ยนมติมส.ได้ และก็ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำมาก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้เสนอนามสมเด็จพระสังฆราชมาให้มส.พิจารณา

อดีตเลขาธิการวุฒิสภา กล่าวอีกว่า การจะตั้งสมเด็จพระสังฆราช ที่จะให้ชาวพุทธศรัทธา 100% คงไม่มี คงหาไม่ได้ แม้แต่เลือกนายกรัฐมนตรีเอง ก็ใช่ว่าจะมีคนศรัทธาท่านทั้งหมด หลักประชาธิปไตยจึงต้องยึดเสียงข้างมาก

อีกส่วนอยากให้รัฐบาลเข้าใจการปกครองสงฆ์ พระสงฆ์ปกครองกันเอง โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ไม่เคยเห็นเคยเห็นหน่วยงานไหนมาแทรกแซง นำมติ มส.ไปวินิจฉัยเช่นนี้

อย่างไรก็ตามก็อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจรัฐบาลด้วยว่า มีหน้าที่ดูแลความมั่นคงและกลั่นกรองเรื่องที่จะนำความบังคมทูล ซึ่งเรื่องไหนที่สังคมไม่สบายใจ รัฐบาลต้องทำให้กระจ่างไม่ใช่นำไปเก็บไว้จนเกิดพุทธศาสนิกชนจะได้เข้าใจไม่มีปัญหาต่อรัฐบาล

อ่านต่อที่ : http://www.dailynews.co.th/education/383708